ส่วนหนึ่งจากเขตชายแดนของอินเดีย ซึ่งอิสลามได้หยั่งรากลึกที่นั่น และผลิดอกออกผลสะพรั่ง และสุกงอมในพื้นดินอันอุดมสมบูรณ์ก็คือ ปากแม่น้ำคงคาและพรหมบุตร
มุสลิมในพม่า ประชากรมุสลิมในพม่า (เบอร์มาเนีย) 1/2
บทความโดย: อ.อาลี เสือสมิง
ส่วนหนึ่งจากเขตชายแดนของอินเดีย ซึ่งอิสลามได้หยั่งรากลึกที่นั่น และผลิดอกออกผลสะพรั่ง และสุกงอมในพื้นดินอันอุดมสมบูรณ์ก็คือ ปากแม่น้ำคงคาและพรหมบุตร...
ซึ่งถือเป็นปากแม่น้ำขนาดใหญ่ที่มีสามเหลี่ยมปากแม่น้ำและสันดอนตลอดจนแม่น้ำสายเล็ก ๆ แยกออกเป็นสาขามากมายอันมีความคล้ายคลึงกับสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ ณ ที่นั่นใกล้ ๆ กับเมืองพัฒนาเราก็จะพบแคว้นเบงกอลและจังหวัดบีฮาร (Bihar) (พิหาร)
ซึ่งทั้งสองเขตนี้นับได้ว่า เป็นเขตที่ยากจนที่สุดของชมพูทวีป เนื่องจากมีประชากรหนาแน่น และเกิดอุทกภัยอยู่บ่อยครั้ง และทุกครั้งที่เกิดอุทกภัยเส้นทางการไหลของแม่น้ำลำคลองก็จะเปลี่ยนไปในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำและไหลเอ่อเข้าท่วมหมู่บ้านของประชาชน
ผลพวงจากความยากจนดังกล่าวได้ทำให้มาตรฐานการดำเนินชีวิตของผู้คนในเขตนี้ตกต่ำลงในบางช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ เพื่อนบ้านใกล้เคียงที่มีดินแดนต่อกันก็ได้รุกรานเข้ายึดครอง ชนพื้นเมืองเดิมจึงตกอยู่ในสภาพของความเป็นทาส
ในช่วงก่อนหน้าที่อิสลามจะมาถึงดินแดนแห่งนี้นั้นสถานภาพของผู้คนในแถบนี้ได้ตกต่ำลงจนถึงระดับชนชั้นของจัณฑาล ซึ่งหมายถึงพวกที่สังคมรังเกียจและเป็นวรรณะที่ต่ำสุด พวกพราหมณ์และฮินดู ก็ครอบงำและมีอำนาจเหนือชนพื้นเมืองเหล่านี้ แต่เมื่ออิสลามได้มาถึงดินแดนแห่งนี้
พร้อมกับความเอื้ออารีและความเสมอภาคมหาชนชาวเบงกอลและบีฮารก็พากันมุ่งสู่การยอมรับในศาสนาอิสลาม พวกเขาได้พบว่าในอิสลามมีความสูงส่งและการรับรู้ได้ถึงความเป็นมนุษย์
พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงยกฐานะของพวกเขาให้สูงขึ้นด้วยน้ำมือของเหล่ากษัตริย์มุสลิมในช่วงที่พวกคัลญีย์มีอำนาจและกษัตริย์กาฟูร ซึ่งเป็นอดีตข้าทาสรับใช้พวกคัลญีย์ปกครอง (ค.ศ.1290-1370) บางส่วนของอินเดียและแผ่ขยายอำนาจสู่ดินแดนแถบนี้ สถานภาพของผู้คนสูงขึ้น สภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น และในที่สุดประชาชนพลเมืองที่ได้เข้ารับอิสลามก็เกิดความตื่นตัวในการประกอบสัมมาอาชีพ ความยากจนแร้นแค้นจึงได้บรรเทาลง
นอกจากนี้พวกเขายังได้มุ่งทำการแก้ไขปัญหาอุทกภัยด้วยการขุดคลองการชลประทาน การสร้างเขื่อน อันเป็นศาสตร์หรือวิทยาการที่พวกเขาได้ถ่ายทอดมาจากชาวอาหรับและเปอร์เซียที่เดินทางมาสู่ดินแดนของพวกเขา บ้านเมืองของพวกเขาก็เกิดความเจริญรุ่งเรือง และพลเมืองก็รู้สึกได้ถึงความผาสุกแห่งอิสลามที่มีเหนือพวกเขา
ผู้มีศรัทธาและกำลังทรัพย์จึงได้สร้างมัสยิดหลายต่อหลายแห่ง จนกลายเป็นดินแดนที่มีมัสยิดมากที่สุดในโลกก็ว่าได้ ถ้าชาวอาหรับพูดว่า กรุงไคโรคือนครแห่งพันมินาเร็ท (หออะซาน) ผู้คนในดินแดนนี้ก็จะกล่าวว่า ดักกา คือ นครแห่งสองพันมินาเร็ท ดินแดนส่วนนี้ก็คือส่วนที่แยกตัวออกจากประเทศปากีสถานและสถาปนาประเทศขึ้นใหม่ว่า บังคลาเทศ ซึ่งหมายถึง ดินแดนแห่งเบงกอล
และในขณะที่ความเจริญของชุมชนเพิ่มมากขี้นอย่างต่อเนื่องจนครอบคลุมดินแดนของบังคลาเทศ บรรดาพ่อค้าในดินแดนแห่งนี้ก็เกิดความตื่นตัวและขยายกิจการค้าขายออกไปยังส่วนอื่น ๆ ของอินเดียและส่วนทางทิศตะวันออกที่ติดกับประเทศพม่า ซึ่งพม่ามีแม่น้ำสายใหญ่อยู่หลายสายที่สำคัญคือ แม่น้ำอิระวดีและแม่โขง
พม่ามีประเทศที่เป็นป่าดงดิบ อุดมสมบูรณ์ เส้นทางคมนาคมหลักก็คือแม่น้ำลำคลองสายต่าง ๆ โดยอาศัยเรือหรือเดินเท้าตลอดจนสัตว์พาหนะไปตามฝั่งริมแม่น้ำและลำคลอง
ประเทศพม่าในช่วงศตวรรษที่ 14 ขณะที่อิสลามได้เข้าสู่ดินแดนบีฮ๊ารและเบงกอลนั้น เรียกกันว่า บัรมาเนีย (ดินแดนแห่งชาวพม่า) แบ่งออกเป็นสองแคว้นใหญ่ คือบัรมาเนียเหนือมีอาบา (อังวะ) เป็นเมืองหลวงบนฝั่งแม่น้ำอิระวดี และบัรมาเนียใต้มีเมืองพะโค เป็นราชธานีบนปากแม่น้ำแม่โขง ดินแดนบัรมาเนียที่มีพื้นที่ติดต่อกับแคว้นเบงกอลในบังคลาเทศมีชื่อว่า แคว้นอาระกัน
ซึ่งเป็นอาณาจักรอิสระที่ปกครองตนเอง อิสลามได้แผ่เข้าครอบคลุมอาระกันทั้งหมดและแผ่เข้าสู่บัรมาเนียในเวลาต่อมา บรรดาพ่อค้ามุสลิมได้สร้างศูนย์กลางความเจริญและบรรดามัสยิดขึ้นท่ามกลางป่าดงดิบบนฝั่งแม่น้ำอิระวดีและแม่โขง
และดินแดนที่ถัดจากพม่าทางทิศตะวันออกอันเป็นที่รู้จักกันในนาม “อินโดจีน” ราวศตวรรษที่ 19 ก็คือ สยามประเทศ ในทุกวันนี้ก็คือ ประเทศไทย ซึ่งหมายถึงดินแดนแห่งชนชาติไทยหรือชาวไต (หรือดินแดนแห่งใบชา) มีราชธานีคือ อยุธยา ถัดจากสยามไปทางตะวันออกก็คือกัมพูชา ทางเหนือคือลาวและอันนัม (ญวน)
ซึ่งปัจจุบันก็คือ เวียดนามเหนือและใต้ ประชาชนในดินแดนเหล่านี้ทั้งหมด คือ ชนเชื้อชาติจีนและสยาม (เชื้อชาติไทยกลุ่มต่าง ๆ )
และในดินแดนที่เป็นอาณาเขตของสยามนั้นได้แผ่ยื่นลงไปถึงคาบสมุทรมลายูจนถึงเส้นรุ้งที่ 7 ทางตอนใต้ของ แหลมมลายูก็คือ ประเทศมลายูที่รวมถึงมะลักกา มีชนชาติอีกกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่โดยแตกต่างจากชนชาติจีนโดยสิ้นเชิง
นั่นคือ ชนชาติโพลีนีเชี่ยน ซึ่งกระจายหลักแหล่งไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดโดยรวมถึงฟิลิปปินส์และหมู่เกาะทางตอนเหนือจรดหมู่เกาะฮาวายในแปซิฟิก
จากดินแดนของแคว้นอาระกัน อิสลามได้แพร่หลายสู่บัรมาเนีย (พม่า) โดยบรรดาพ่อค้าซึ่งสามารถดึงผู้คนหลายพันคนให้เข้ารับอิสลามถึงแม้ว่าจะมีการสู้รบอย่างรุนแรงที่ชาวพุทธได้ประกาศสงครามต่อต้านอิสลามก็ตามที พระสงฆ์ในพุทธศาสนาเป็นกลุ่มชนที่ปกป้องลัทธิความเชื่อของตนอย่างเหนียวแน่น
ทั้งนี้เพราะพระสงฆ์เหล่านี้มีอำนาจในสังคมของชาวพุทธและเป็นแนวร่วมก็เหล่ากษัตริย์ที่มีอำนาจปกครองในความอุดมสมบูรณ์ของดินแดนแถบนี้
และนี่ก็คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จีนและเวียดนามและส่วนอื่น ๆ ที่เป็นศูนย์กลางของชาวพุทธเปลี่ยนไปเป็นคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยม การเปลี่ยนแนวความคิดเช่นนี้มิได้เกิดจากความเลื่อมใสต่อลัทธิสังคมนิยม หากแต่เป็นเพราะว่าพระสงฆ์ในพุทธศาสนาได้สร้างความหนักอึ้งแก่ผู้คนตลอดช่วงระยะเวลาอันยาวนาน
อิสลามได้แพร่หลายในดินแดนพม่าไปตามเส้นทางของแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ และได้มีการจัดตั้งชุมชนมุสลิมและมัสยิดขึ้นหลายต่อหลายแห่ง ตามรายทางสายหลักทั้งทางน้ำและทางบก ชุมชนมุสลิมได้มีศูนย์กลางอยู่ตามหมู่บ้านขนาดใหญ่เท่านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะว่าพระสงฆ์ในศาสนาพุทธและชาวฮินดูได้ทำการต่อต้านการสร้างมัสยิดในดินแดนของพวกเขา
ตลอดจนขอความช่วยเหลือจากบรรดากษัตริย์และผู้เป็นคหบดีทั้งหลายให้ช่วยทำสงครามต่อสู้กับอิสลาม ซึ่งบุคคลเหล่านี้มองอิสลามว่าคุกคามต่อศูนย์กลางทางการปกครองและสังคมของพวกตน
เมื่อบรรดาพ่อค้าวาณิชย์จากดินแดนชมพูทวีปส่วนอื่น ๆ และจากอิหร่านได้มาถึงบริเวณดินแดนแถบนี้ พวกพ่อค้ามุสลิมเหล่านี้ก็ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามหัวเมืองชายฝั่งและสร้างสถานีทางการค้าขึ้น
พวกเขาก็ได้เผยแผ่อิสลามควบคู่กันไป แต่ทว่าอิสลามในดินแดนแห่งนี้มิค่อยได้รับการตอบรับมากนักด้วยเหตุที่พระสงฆ์ในศาสนาพุทธได้ทำการต่อต้านอย่างหนัก
และที่โชคร้ายก็คือว่า ดินแดนพม่าถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธในสายวิปัสสนา (หรือการเข้าญาน) พวกโยคี (นักพรต) หรือพระสงฆ์ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในตำบลหรือหมู่บ้าน และวัดก็คือศูนย์กลางในการดำเนินชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านนั้น ๆ
ศาสนาพุทธนั้นมีอยู่หลายนิกาย แต่นิกายที่ยึดแนวทางวิปัสสนาหรือ การเข้าญานซึ่งเป็นแนวทางของเถรวาทหรือหินยานมีความคล้ายคลึงอย่างมากกับคำสอนของอิสลาม ชาวพุทธมีความเชื่อต่อการเกิดใหม่และชาติภพหน้าที่ดีกว่า หากผู้นั้นเป็นคนดีและย่อมตกอยู่ในความทุกข์ถ้าหากว่าผู้นั้นเป็นคนชั่ว
ส่วนหนึ่งจากการปฏิบัติดีของชาวพุทธก็คือทำทานให้อาหารแก่คนยากจน คนเดินทางหลงถิ่น และการสร้างเจดีย์ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิทางพุทธศาสนา ชาวพุทธจะบริจาคทานที่คล้ายคลึงกับการจ่ายซะกาตโดยนำไปซื้ออาหารและนำมาถวายที่วัด
ตลอดจนทำบุญเลี้ยงผู้คน (ตั้งโรงทาน) บางทีสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้อิสลามไม่สามารถแพร่หลายออกไปยังกว้างขวางในพม่า ทั้งนี้เพราะชาวพม่าอาจจะมองไม่เห็นถึงข้อแตกต่างระหว่างศาสนาพุทธกับอิสลาม
อย่างไรก็ตามอิสลามได้สถาปนาชุมชนมุสลิมขึ้นในหัวเมืองต่าง ๆ ที่สำคัญแต่ก็ไม่มีความเจริญรุ่งเรืองเหมือนกับชุมชนมุสลิมต่าง ๆ ในมะลักกาหรือดินแดนแห่งกาลาบ๊ารในแหลมมลายู ดินแดนอินโดจีนนั้นถึงแม้ว่าลักษณะทางภูมิศาสตร์จะไม่ใช่ดินแดนที่ป่าดงดิบทั้งหมดแต่ก็ถือว่า มีการคมนาคมที่ยากลำบากแห่งหนึ่ง เพราะมีเทือกเขาที่ราบสูง ดินแดนทุรกันดาร และป่าเขามาขวางกั้นและเป็นอุปสรรคในการคมนาคมและการติดต่อของผู้คน
ด้วยเหตุนี้คาบสมุทรอินโดจีนจึงแบ่งออกเป็นเขตแดนทางการปกครองที่หลากหลาย ประชาชนที่อาศัยอยู่ในคาบสมุทรแห่งนี้ก็มีหลายเชื้อชาติที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุที่มีความลำบากในการคมนาคมติดต่อซึ่งกันและกัน ข้อแตกต่างในจุดใหญ่ของชนชาติเหล่านี้ก็คือ
ชนชาติไทยหรือสยามที่มีสีผิวน้ำตาลหรือดำแดง ชาวญวนมีร่างกายที่ไม่ใหญ่โตมีผิวสีขาว ชาวกัมพูชาซึ่งไม่มีข้อเหมือนทางสรีระกับชนชาติเพื่อนบ้านนอกจากลักษณะผิวเหลืองเท่านั้นแต่ก็ดูเหมือนว่าไม่มีข้อแตกต่างที่เด่นชัดนัก
ชาวจีนเป็นชนชาติที่รู้จักกันดีในการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ความเจริญทางวิชาการ และการประกอบอาชีพทางการค้า ด้วยเหตุนี้จำนวนของชนชาติจีนจึงมีเป็นจำนวนมากในทุกประเทศของเอเชียตะวันออกนอกจากในส่วนของอินโดจีน ซึ่งชาวจีนมีอัตราส่วนเพียง 1 ใน 50 ของประชากร
ประชาคมส่วนใหญ่เป็นชาวญวน ซึ่งมีหลักแหล่งในพื้นที่ 1 ใน 3 ทางตะวันตกของคาบสมุทรอินโดจีน และทางตอนใต้ของคาบสมุทรอินโดจีนมีชนชาติจามอาศัยอยู่ ซึ่งเดิมทีมีรากเหง้ามาจากชนชาติญวนและตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณชายฝั่ง
อ่านต่อ >>> มุสลิมในพม่า ประชากรมุสลิมในพม่า (เบอร์มาเนีย) 2/2
- ไทย-มุสลิม เชื้อสายจาม จากเมืองเขมร
- ศาสนาอิสลามเข้าสู่ประเทศไทยในสมัยใด?
- ศาสนาอิสลามในน่านเจ้า เริ่มเข้ามาในสมัยใด
- ประวัติคลองแสนแสบและบรรพชนมุสลิมเชื้อสายต่างๆ
ที่มา: alisuasaming.org