ไทย-มุสลิม เชื้อสายจาม จากเมืองเขมร เข้ามาได้อย่างไร?
ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สยามได้ทำสงครามกับเขมรถึง ๓ ครั้ง คือ ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. ๒๓๑๒ ครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๓๑๔ และครั้งที่สามปี พ.ศ. ๒๓๒๓ ในศึกเมืองเขมรครั้งที่สอง (พ.ศ. ๒๓๑๔) มีการกวาดต้อนชาวเขมรเข้ามากรุงธนบุรีเป็นอันมาก ในครั้งนั้นมีแขกจามถูกกวาดต้อนมาด้วย (ดนัย ไชยโยธา, ๕๓ พระมหากษัตริย์ไทย, โอเดียนสโตร์ (๒๕๔๓) หน้า ๒๓๔)
ครั้นต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๑ ปรากฏว่าสมเด็จเจ้าพระยา (ชู) ได้ชักชวนพระยายมราช (แบน) ร่วมกันกำจัดฟ้าทะละหะ (มู) ลงได้ ต่อมาพระยายมราชกลับกำจัดสมเด็จเจ้าพระยาเสีย และตั้งตนเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองเขมร พอมีข่าว แขกจามจะยกทัพมาตีเขมร พระยายมราชและพระยากลาโหม (ปก) จึงพานักองเอง และพระญาติวงศ์ของเขมรเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดรับรองนักองเองอย่างพระราชบุตรบุญธรรม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยายมราชเป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศรไปเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองเขมร ภายหลังจากที่ได้ปราบปรามเขมรจามราบคาบแล้ว… (ดนัย ไชยโยธา, อ้างแล้ว หน้า ๒๗๒-๒๗๓)
ลุปี พ.ศ. ๒๓๗๖ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพบกและเจ้าพระยาคลัง (ดิศ บุนนาค) ซึ่งต่อมา คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เป็นแม่ทัพเรือ ยกไปตีญวนและเขมรพร้อมกัน สงครามครั้งนี้กินเวลาถึง ๑๔ ปี เรียกว่า “สงครามอันนัมยุทธ” เมื่อสงครามยุติลงโดยไม่มีฝ่ายใดชนะโดยเด็ดขาด จึงยกทัพกลับพร้อมด้วยการกวาดต้อนครอบครัวเขมรจามเข้ามาจำนวนหนึ่ง โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งครัวเรือนที่ “บ้านครัว” อยู่ด้วยกัน (เรืองศักดิ์ ดำริห์เลิศ, อ้างแล้ว หน้า ๔)
“บ้านครัว” จึงเป็นชุมชนมุสลิมที่เก่าแก่มีมานับแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ชาวมุสลิมจาม (แขกจาม) นั้นมีความเก่าแก่ยิ่งกว่า กล่าวคือ มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ดังมีปรากฏหลักฐานอยู่ในพระอัยการตำแหน่งนายทหารหัวเมืองระบุถึง “กองอาสาจาม” ซึ่งเป็นกรมหนึ่งในสังกัดกลาโหม มีพระยาราชวังสันเป็นเจ้ากรม ทำหน้าที่ควบคุมอาสาจาม ซึ่งประกอบไปด้วยมุสลิมเชื้อสายจามและมลายู (กฎหมายตราสามดวง เล่ม ๑ หน้า ๓๐๗-๓๐๘)
กองอาสาจามเป็นผู้ที่ชำนาญการรบทางทะเล และมีบทบาทสำคัญในการสงครามตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ขุนนางที่มีบทบาทสำคัญอยู่ในกรมอาสาจามตั้งแต่สมัยอยุธยาสืบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ คือ กลุ่มขุนนางสายตระกูลสุลัยมาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเมืองท่าการค้า เช่น จะนะ พัทลุง และสงขลา
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นขุนนางในกรมอาสาจาม มีหน้าที่บังคับบัญชากองทหารมลายู-จาม ซึ่งส่วนใหญ่มีความชำนาญด้านการเดินเรือหรือการสงครามทางน้ำ (ยุทธนาวา) นับแต่สมัยอยุธยาตอนปลายเป็นต้นมา ขุนนางกลุ่มนี้มีสายสัมพันธ์ด้วยการสมรสกับขุนนางสายตระกูลเฉกอะฮฺหมัดในกรมท่าขวา และกับราชตระกูลแห่งบรมราชจักรีวงศ์ ทำให้ระบบเครือญาติขยายความสัมพันธ์ออกไปอย่างกว้างขวาง (ดร.จุฬิศพงษ์ จุฬารัตน์, อ้างแล้ว หน้า ๑๙-๒๐)
“ชุมชนบ้านครัว” นับแต่รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งครัวเรือนอยู่ที่บริเวณป่าไผ่ชายทุ่งพญาไท ผู้อพยพเรียกหมู่บ้านตามคำเขมรว่า “พุมเปรย” แปลว่า “บ้านป่า” หรือ “เปรยสล็อก” แปลว่า “เมืองป่า” แต่คนไทยเรียกว่า “บ้านแขกครัว” (ภายหลังเรียกสั้นๆ ว่า “บ้านครัว”) ที่บริเวณตอนกลางของหมู่บ้านเรียกว่า “พุมปราง” ทางตะวันตกเรียกว่า “พุมตะโบง” หรือ ”ตรอยเปรียม”
ส่วนทางตะวันออกเรียกว่า “ก๊ะห์ก็อย” ต่อมาเรียกง่ายๆ ว่า “เกาะกอย” จากการตรวจสอบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่า ชุมชนบ้านครัวของกองอาสาจาม น่าจะได้รับพระมหากรุณาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินในอาณาบริเวณชุมชนนี้แก่กองอาสาจาม ซึ่งมีทั้งชาวมุสลิมเขมรและชาวมลายูปัตตานีจัดตั้งขึ้นเป็นหมู่บ้านหลังจากเสร็จศึกในครั้งสงครามเก้าทัพประมาณปี พ.ศ. ๒๓๓๐ เพื่อเป็นการปูนบำเหน็จความดีความชอบแก่กองอาสาจามที่ทำการสงครามและปีเดียวกันนั้น ยังเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชสมภพด้วย (เรืองศักดิ์ ดำริห์เลิศ, อ้างแล้ว หน้า ๔,๒๕)
ในชุมชนบ้านครัวมีมัสยิดอยู่ ๓ หลังด้วยกัน หลังแรกคือ มัสยิดยามิอุ้ลคอยรียะห์ หรือ “สุเหร่ากองอาสาจาม” อาคารเดิมของมัสยิดหลังนี้สร้างขึ้นต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เข้าใจว่า พระยาราชบังสัน (แม้น) เจ้ากรมอาสาจามสมัยกรุงธนบุรีเป็นผู้ริเริ่มก่อสร้าง ต่อมาพระยาราชบังสัน (ฉิม) และพระยาราชบังสัน (บัว) ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้ทำนุบำรุงมัสยิดต่อมาตามลำดับ
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๔๙๘ อาคารเดิมได้ถูกรื้อถอนลง และสร้างอาคารหลังใหม่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มัสยิดแห่งนี้ เป็นหนึ่งในหลายๆ มัสยิดที่ได้รับพระราชทาน “โคมไฟเขียว” เมื่อครั้งงานพระบรมศพรัชกาลที่ ๕ (ร.ศ. ๑๒๙) มัสยิดหลังที่สอง มีชื่อว่า มัสยิดดารุ้ลฟ่าลาฮฺ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของชุมชนบ้านครัว สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๗
และมัสยิดหลังที่ ๓ เรียกว่า มัสยิดซูลูกุลมุตตะกีน เดิมตั้งอยู่ที่บ้านครัวใต้ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๖ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ต่อมารื้อถอนโยกย้ายข้ามคลองมาสร้างขึ้นใหม่ที่บ้านครัวตะวันตกในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ (สมัยรัชกาลที่ ๗) ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้มีการสร้างอาคารหลังใหม่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้นดังปัจจุบัน
- ความเป็นมามุสลิมในประเทศไทย ประชากรมุสลิมในประเทศไทย อิสลามในกรุงเทพ มาจากไหน
- มุสลิมกับคลองแสนแสบ ทำไมถึงเรียกคลองแสนแสบ
- ประวัติ มัสยิดกรือเซะ (ฉบับไม่บิดเบือน)
- อิลฮาน โอมาร์ ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.ชาวอเมริกันเชื้อสายโซมาลี คนแรกของสหรัฐฯ
- เรียม เพศยนาวิน จากนางสาวไทย สู่รานีกษัตริย์มาเลเซีย
- ประวัติพระเจ้าตากสิน และพระยาจักรี คือใคร มุสลิมสองพ่อลูก
- จุฬาราชมนตรียุคกรุงรัตนโกสินทร์ ย้อนประวัติศาสตร์ผู้นำไทยมุสลิม
- พระเจ้าตาก กับ นายหมุด (จักรีแขก) “ทหาร” มุสลิมคู่พระทัย
ที่มา: alisuasaming.org