สิทธิของผู้หญิงในอิสลาม


สิทธิของผู้หญิงในอิสลาม

บทความโดย: อ.บรรจง บินกาซัน

ในอดีต ผู้หญิงมีสถานะทางสังคมที่ด้อยกว่าผู้ชายเพราะความอ่อนแอทางสรีระ ในบางสังคม ผู้หญิงไม่เพียงแต่ไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยังเป็นทรัพย์สินที่ตกทอดเป็นมรดกด้วย

ในบางสังคม ผู้หญิงเป็นเพศที่ได้รับความชิงชัง ไม่เพียงแต่เพราะความอ่อนแอทางสรีระเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะความเชื่อว่าผู้หญิงเป็นต้นเหตุทำให้มนุษย์มีบาปติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดเพราะอีฟหรือเอวาภรรยาของอาดัมไปกินผลไม้จากต้นไม้ที่พระเจ้าห้ามไว้และส่งผลไม้ให้อาดัมกิน การฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้าจึงทำให้อาดัมและอีฟถูกส่งมายังโลกนี้พร้อมกับบาปที่ติดตัวมา

ในคัมภีร์โบราณมีบันทึกเกี่ยวกับผู้หญิงไว้ถึงขนาดว่า : “ไม่มีความชั่วร้ายจากที่ไหนใกล้เคียงความชั่วของผู้หญิง…บาปเริ่มต้นกับผู้หญิงและเพราะเธอนี่แหละที่เราทั้งหมดต้องตาย” (Ecclesasticus 25:19,24)

และ “การเกิดของลูกสาวคือการขาดทุน” (Sirach 22:3)

ในสังคมอาหรับก่อนอิสลามที่ต้องการได้ลูกผู้ชายเพื่อสืบตระกูลและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ครอบครัวหรือเผ่า การมีทารกเพศหญิงเกิดขึ้นในครอบครัวถือเป็นภาระในการเลี้ยงดูและคุ้มครอง ทารกเพศหญิงจึงเป็นที่ชิงชังจนถึงกับมีการนำทารกเพศหญิงไปฝังทั้งเป็น

ถ้าทารกเพศหญิงรอดจากการถูกฝังทั้งเป็นและเติบโตขึ้นมาเป็นสาว ผู้หญิงก็ไม่มีสิทธิ์เลือกในการแต่งงานและไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์สิน อย่าว่าแต่มีสิทธิ์ในการรับมรดกเลย ตัวผู้หญิงเองเมื่อมีสามี หากสามีตายไป ผู้หญิงที่เป็นภรรยาจะเป็นมรดกตกทอดถึงทายาทของสามีด้วย

เมื่อนบีมุฮัมมัดนำอิสลามมา อิสลามได้ปฏิรูปทัศนคติและความเชื่อเกี่ยวกับผู้หญิงอย่างมากมาย นบีมุฮัมมัดได้บอกชาวอาหรับว่าทารกทั้งเพศชายหรือเพศหญิงเป็นของขวัญที่พระเจ้าให้มา ดังนั้น จงขอบคุณพระเจ้าและทำพิธีเลี้ยงฉลองแสดงความยินดีที่มีสมาชิกครอบครัวเพิ่มขึ้นเมื่อทารกมีอายุ 7 วัน

อิสลามถือว่าเด็กทุกคนเกิดมาในสภาพที่บริสุทธิ์ พ่อแม่ของเด็กต่างหากที่จะทำให้ลูกของตัวเองเป็นอย่างไร และอิสลามถือว่าเด็กทุกคนไม่ว่าจะเกิดในครอบครัวใด หากเสียชีวิตก่อนถึงวัยผู้ใหญ่ตามเกณฑ์ของศาสนา พระเจ้าจะไม่เอาโทษ

นบีมุฮัมมัด กล่าวว่า ใครที่เลี้ยงดูลูกสาวของตนสองคนให้เติบโตมีการศึกษาและมารยาท เขาผู้นั้นจะได้เข้าสวรรค์

นอกจากนี้แล้ว อิสลามไม่เพียงแต่จะให้สิทธิ์ผู้หญิงในการตัดสินใจแต่งงานเท่านั้น แต่ยังมีสิทธิ์กำหนดของขวัญแต่งงานสำหรับตัวเองจากฝ่ายชายและมีสิทธิ์ได้รับมรดกด้วย แม้จะได้รับน้อยกว่าพี่ชายน้องชาย แต่อิสลามได้กำหนดว่าหากน้องสาวหรือพี่สาวไม่มีสามี พี่ชายและน้องชายต้องดูแลพี่สาวและน้องสาวของตนแทนพ่อโดยไม่มีสิทธิ์เข้าไปก้าวก่ายในมรดกที่พี่สาวหรือน้องสาวของตัวเองได้รับ สามีของผู้หญิงก็ไม่มีสิทธิ์เข้าไปก้าวก่ายในทรัพย์สินของภรรยา

หลังสมัยของนบีมุฮัมมัด สวัสดิการของผู้หญิงได้รับการดูแลอย่างดีจากผู้ปกครองมุสลิม ในสมัยของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺผู้สืบทอดอำนาจคนที่สองต่อจากนบีมุฮัมมัด ความรู้สึกของผู้หญิงก็ได้รับการดูแลเช่นกัน

มีบันทึกทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า คืนหนึ่ง ระหว่างการออกตระเวนตรวจสภาพความเป็นอยู่ของชาวเมืองในตอนกลางคืน เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺได้ยินเสียงผู้หญิงขับทำนองบทกวีที่รำพันถึงการที่สามีของหายหน้าไปโดยนางกล่าวว่า “ขอสาบานด้วยพระเจ้า ถ้าฉันไม่กลัวพระองค์แล้วละก็ เตียงนี้น่าจะสั่นสะเทือนและหักเพราะการกระทำที่ไม่ถูกต้องไปแล้ว”

เมื่อได้ยินเช่นนั้น อุมัรฺจึงรีบกลับไปหาลูกสาวของเขาและถามว่า “ผู้หญิงทนการหายไปของสามีได้นานเท่าใด?” ลูกสาวของเขาตอบว่า “เดือนหนึ่งหรือสองหรือสามเดือน สูงสุดก็สี่เดือน”

ด้วยความเป็นผู้ปกครองที่มีความเมตตา อุมัรฺได้ให้คนไปตามสามีของผู้หญิงคนนั้นกลับมาที่บ้านและอยู่กับภรรยาของเขา นอกจากนั้นแล้ว เขายังได้ออกคำสั่งว่าสามีทุกคนที่ออกเดินทางไกลหรือไปร่วมในการทำศึกจะต้องไม่ทิ้งภรรยาของตนไว้นานเกินกว่าสี่เดือน

อัพเดทล่าสุด