ประวัติย่อ อาจารย์อาบีดีน วิทยานนท์
ประวัติย่อ อาจารย์อาบีดีน วิทยานนท์ ย้ำ3ข้อปลูกฝังให้ลูกศิษย์จารึกในหัวใจ
อาจารย์อาบีดีน วิทยานนท์ เป็นบุตรคนแรกของ นายสะมะแอ และ นางฟาตีเมาะฮฺ วงษ์มะเซาะ เกิดเมื่อวันอังคาร ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2465 ณ บ้านเลขที่ 16 หมู่ 7 คลองหลอแหล แขวงสะพานสูง เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
ท่านมีน้องชายร่วมมารดา 1 คน คือ นายรังสรรค์ (กอเซ็ม) วิทยานนท์ และท่านยังมีท่านมีพี่น้องต่างมารดาอีก 3 คน คือ
1. นายมณิศ (อับดุลการีม) วิทยานนท์
2. นายชโยดม (อับดุลลอฮ์) วิทยานนท์
3. นายชูศักดิ์ (มูฮัมหมัด) วิทยานนท์
การศึกษา
อาจารย์อาบีดีน วิทยานนท์ เข้ารับการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนบุญเซาะส่งวงษ์มะเซาะ และจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ระหว่างเรียนอยู่ที่นั้น ก็ได้รับการศึกษาวิชาการศาสนาชั้นต้นคือ อัล-กุรอ่าน อัลฮาดิษ และวิชาการศาสนาจากตำราภาษายาวี (มลายู) กับบิดาของท่านเอง และอาจารย์ซอและห์ ศรีวิเศษ อดีตประธานกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ต่อมาท่านศึกษาต่อกับอาจารย์ซอและห์ (ปากคลองหลอแหล) ซึ่งเป็นบิดาของท่านอาจารย์ประเสริฐ มะหะหมัด (อดีตจุฬาราชมนตรี) ซึ่งเป็นตำราเรียนวิชาการศาสนาที่เป็นภาษาอาหรับ
หลังจากนั้น อาจารย์อาบีดีน วิทยานนท์ ได้ไปศึกษาต่อกับอาจารย์ต่วน สุวรรณศาสน์ (อดีตจุฬาราชมนตรี) ที่ตรอกโรงภาษี ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก กรุงเทพฯ เป็นระยะเวลา 3-4 ปี จากนั้นท่านก็ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ณ รัฐกลันตัน สหพันธรัฐมาเลเซีย กับ อาจารย์มูฮัมหมัดตอเฮร ที่หมู่บ้านปูนุดนายง ตวนครูตอเฮร และท่านอาจารย์อื่นๆ อีกหลายท่าน เป็นระยะเวลา 3 ปี
เมื่อสงครามเอเชียบูรพาสิ้นสุดลง อาจารย์อาบีดีน วิทยานนท์ ก็ได้โอกาสไปศึกษาต่อยัง ณ มัสยิดฮะรอม มหานครมักกะฮ์ ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย กับท่านซัยยิดมูฮัมหมัด อัลกุรตูบีย์, เชคอุมัรฮัมดาน, เชคซัยยิดอามีน อัลมาลีกี, เชคอับดุลกอเดร อันมันดีลีย์, เชคอิสมาอีล (ปอดอแอ) และอาจารย์อื่นๆ อีกหลายท่าน เป็นระยะเวลา 6 ปี และท่านยังได้เป็นผู้ให้ความรู้วิชาการด้านศาสนาในมัสยิดฮะรอมอีกด้วย
พ.ศ. 2499 อาจารย์อาบีดีน วิทยานนท์ สำเร็จการศึกษาจากกมหานครมักกะฮ์ ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย และได้เดินทางกลับสู่มาตุภูมิ บิดาของท่านก็ได้ไห้ท่านทำหน้าที่ดำเนินการสอนวิชาการศาสนาแทนไปก่อนชั่วคราวในบ้านของบิดาของท่านเอง ที่ได้เริ่มต้นครั้งเป็นบาแล (เรือนหรือเพิงโถงที่ต่ออกมาจากบ้าน) ซึ่งได้เริ่มทำการสอนมาตั้งแต่ปี 2460 และได้ก่อตั้งเป็นโรงเรียนเมื่อปี 2468 ต่อมาในเดือนเมษายน 2495 ได้มีการปรับการเรียนการสอนเป็นสองระดับ คือภาคฟัรดูอีน และภาคฟัรดูกิฟายะห์ สำหรับภาคฟัรดูอีน คือ โรงเรียนมะเซาะฮะตุดดีน และภาคฟัรดูกิฟายะห์ คือ โรงเรียนมะเซาะฮะตุดดีน 2 นั่นเอง
พ.ศ. 2501 บิดาของท่านอาจารย์อาบีดีน วิทยานนท์ ได้มอบหมายไห้ท่านเป็นผู้รับช่วงกิจการ ของโรงเรียนมะเซาะฮะตุดดีน 2 โดยเป็นเจ้าของ ผู้รับใบอนุญาตและครูใหญ่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
วันอาทิตย์ที่ 22 กุมพาพันธ์ พ.ศ. 2502 อาจารย์อาบีดีน วิทยานนท์ ได้สมรสกับนางสาวซีตีฮายาร หมัดโรจน์ และมีบุตรด้วยกัน 10 คน
1. ฮัจยีอะห์หมัดรอซีดี (อรุณ) วิทยานนท์ (ปัจจุบัน คือผู้ได้รับใบอนุญาตของโรงเรียน)
2. ฮัจยะห์ซาเราะห์ (ไพเราะ) กาสุรงค์
3. ฮัจยะห์ซัลมา วิทยานนท์
4. ฮัจยีอุมัรฮัมดาน (สมชาย) วิทยานนท์ (ปัจจุบัน คือบาบอของโรงเรียน)
5 ฮัจยีอุสมานลาตีฟี (จิรวัฒน์) วิทยานนท์ (ปัจจุบัน คือครูใหญ่ของโรงเรียน)
6. ฮัจยีมูฮัมหมัดอาดัม (สามารถ) วิทยานนท์ (ปัจจุบัน คือครูฝ่ายปกครองของโรงเรียน)
7. ฮัจยีมูฮัมหมัดฮาซันบาซอรีย์ (ศักดา) วิทยานนท์ (ปัจจุบัน คือครูผู้สอนของโรงเรียน)
8. ฮัจยะห์รอชีดะห์ (รจนา) มะแก้ว
9. ฮัจยะห์ฮาบีบะห์ (สุวิมล) มีสุวรรณ
10. ฮัจยะห์ฮาอีซะห์ (ปาณิศรา) อาลีอุสมาน
วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2502 หลังจากที่ อาจารย์อาบีดีน วิทยานนท์ ได้แต่งงานเเล้ว ซึ่งถือเป็นวันศิริมงคล จึงได้มีดำริจัดสร้างอาคารเรียนหลังใหม่
มกราคม พ.ศ. 2503 อาคารหลังใหม่ได้เสร็จแล้ว ซึ่งอาคารหลังนี้ นับได้ว่าเป็นอาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียนมะเซาะฮะตุดดีน 2 กิจการของโรงเรียนได้ดำเนินอย่างเจริญรุ่งเรื่อง ส่งผลให้จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
พ.ศ. 2510 จำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น ทำไห้สถานที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักเรียน อาจารย์อาบีดีน วิทยานนท์ จึงได้ดำริให้สร้างอาคารเรียนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งอาคาร เพื่อรับรองจำนวนนักเรียนที่เข้าศึกษา อาคารเรียนหลังนี้เสร็จในปี พ.ศ. 2511
อาจารย์อาบีดีน วิทยานนท์ เป็นผู้ที่รักความยุติธรรม อุทิศเวลาทั้งหมดชั่วชีวิตของท่านแก่สังคมมุสลิมและโรงเรียนสอนศาสนาแห่งนี้ ในการพรำสอนศิษย์ ตลอดระยะเวลาที่มีชีวิต วิชาความรู้ที่มีอยู่ ได้ประสาทวิชา แก่บรรดาลูกศิษย์ให้กระจายไปทั่วทุกหนแห่ง ทั่งสร้างคุณประโยชน์ด้วยวิชาอิสลามอย่างอนันต์ ท่านเคยถูกเสนอให้รับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ต่อจากอาจารย์ต่วน ต่วน สุวรรณศาสน์ ที่ได้กลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮ์ ด้วยการลงมติเห็นพ้องต้องกันจากบรรดานักวิชาการด้านศาสนาอาวุโสในสมัยนั้น แต่ท่านปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เพราะท่านต้องการเป็นเพียงครูผู้สอนสอนศาสนาเท่านั้น
เสียชีวิต
อาจารย์อาบีดีน วิทยานนท์ ได้กลับไปสู่ความเมตตาของพระองค์อัลเลาะฮ์ซุบฮานะฮูวะตะลา ในคืนวันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2525 เวลาประมาณ 22.30 (คืนวันศุกร์) ที่บ้านของท่าน ท่ามกลางความโศกเศร้าของหมู่มิตรและญาติพีน้อง ซึ่งได้ทำการละหมาดญะนาซะฮ์ที่มัสยิดอัสสลาม (คลองกุ่ม) ในวันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 และทำกาฝัง ณ กุโบร์ (สุสาน) ของมัสยิดอัสสลาม (คลองกุ่ม) ด้วยเช่นกัน ในการนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ นำดินพระราชทานมายังหลุมฝังศพของท่าน ท่ามกลางประชาชนมุสลิมทั่วทุกสารทิศ มุ่งไปเยี่ยมศพอย่างล้นหลาม ไม่ขาดสาย ประมาณได้เฉพาะที่มาร่วมละหมาดญานาซะฮ์จำนวนนับหมื่นคน มัสยิดอัสสลาม (คลองกุ่ม) ดูแคบไปถนัดตา เมื่อประชาชนเข้าไปแออัด เพื่อร่วมละหมาด ต้องใช้เวลานับหลายชั่วโมง เพื่อวนเวียนเข้าไปทำพิธีละหมาดถึง 4 รอบ โดยการนำละหมาดของ อาจารย์ประเสิรฐ มะหะหมัด (จุฬาราชมนตรี) , อาจารย์มนิศ วิทยานนท์, อาจารย์อะฮ์หมัดซิฮาบุดดีน คุรุสวัสดิ์ และฮัจยีรอมลี วงษ์มะเซาะ ตามลำดับ
อาจารย์อาบีดีน วิทยานนท์ ทิ้งทุกสิ่งทุกกอย่างไว้เบื้องหลัง ทิ้งภรรยา ทิ้งบุตร ทิ้งญาติพี่น้อง ทิ้งทุกๆ คนที่เคารพนับถือท่าน และยิ่งไปกว่านั้น ท่านได้ทิ้งอาคารที่มีนามว่า มะเซาะฮาตุดดีน และหอพักที่รายล้อมเป็นทิวแถว พร้อมทั้งนักเรียนที่กำลังศึกษาหลายร้อยชีวิตไปอย่างไม่มีวันกลับมา ท่านได้ทิ้งจริยธรรมคำสอนไห้แก่สานุศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่ารับไปปฏิบัติ ท่านได้ทิ้งคุณธรรมความเที่ยงธรรม มุ่งสามัคคีธรรมแด่สังคมไว้เป็นแบบฉบับ ท่านยังได้ทิ้งการปฏิบัติคุณงามความดีไว้เป็นแบบอย่าง ท่านได้ทิ้งวิชาการหลักการ ความหมายต่างๆ ในพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอ่าน พจนารถศาสดามูฮัมหมัดศ็อลลัลลอฮุอาลัยฮีวาซัลลัม ไว้ไห้สานุศิษย์รับไปประสิทธิ์ประสาทต่อ ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ท่านได้ก่อตั้ง อาคารเรียนขึ้นมา เพื่อถ่ายทอดวิชาการศาสนาแก่สานุศิษย์นั้น
ท่านมิได้มุ่งหมายสิ่งใดเลย ไม่ว่าจะเงินทอง ลาภยศ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือคำสรรเสริญเยินยอใดๆ หวังแต่ไห้ศิษย์บางคนในแต่ละรุ่น ได้ไปสั่งสอนวิชาการกันต่อไปไห้มีการต่อเนื่อง โดยมิขาดสายทั้งนั้น ท่านบอกว่า ท่านพอใจแล้ว เมื่อท่านลงไปอยู่ในกุโบร์กุศลด้านนี้จะไหลไปหาท่านเอง คำสอนของท่านที่ย้ำถึงเจตนาในการก่อตั่งโรงเรียนขึ้นมาสอนวิชาการด้านศาสนาว่า
1. ท่านต้องปลูกฝังอีหม่านความมีศรัทธาให้แก่ลูกศิษย์ของท่าน
2. ท่านต้องการให้ลูกศิษย์ของท่านตออัตอิบาดะห์ต่อพระเจ้าอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบของศาสนา
3. ท่านต้องการปลูกฝังความมีสำนึกถึงความสำคัญ ที่ทุกคนจะต้องกตัญญู และปฏิบัติให้เป็นที่ชื่นชอบต่อบิดามารดา
ด้วย 3 ประการนี้เท่านั้น คือ เป้าหมายของอาจารย์อาบีดีน วิทยานนท์ ตั่งแต่ต้น จนกระทั่งท่านจบชีวิตลง ท่านไม่ปรารถนาที่จะสร้างค่านิยมความรู้ความสามารถของศิษย์ คนหนึ่งคนใดจารึกไว้บ่นแผ่นกระดาษ ที่เป็นประกาศนียบัตรรับรอง แต่ท่านต้องการให้ความรู้ความสามารถนั้น จารึกลงไปในหัวใจของศิษย์ของท่านทุกๆคน ท่านเปิดอบรมนักศึกษาผู้ใหญ่เป็นเวลายาวนานนับสิบๆปี แต่ท่านไม่เคยมอบวุฒิบัตรรับรองเกียรติคุณให้แก่ศิษย์ท่านใดเลย
การจากไปของท่านอาจารย์อาบีดีน วิทยานนท์ ในครั้งนั้น หาใช่การสูญเสียเฉพาะชาวมะเซาะฮาตุดดีน ที่ต้องขาดอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้อย่างแสนเศร้า มิใช่การสูญเสียเฉพาะชาวหลอแหล มิใช่การสูญเสียเฉพาะสัปปุรุษมัสยิดอัสสลาม (คลองกุ่ม) ที่ท่านทำหน้าที่อิหม่ามที่ต้องขาดอิหม่ามผู้มีความสามารถไปอย่างแสนเสียดายแต่เพียงเท่านั้น แต่หมายถึงการการสูญเสียของประชาติมุสลิมทั่งหมด ประชาชาติมุสลิมได้สูญเสียผู้อบรมสั่งสอนสัจธรรมอิสลาม ต้องสูญเสียผู้ประสานรอยร้าวของสังคม คณะกรรมการอิสลามกรุงเทพมหานครต้องขาดรองประธานหนึ่งตำแหน่ง ต้องสูญเสียผู้รับมรดกจากบรรดานบี ต้องสูญเสียผู้สละทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งความเจริญรุ่งเรื่องด้านศาสนาไปแล้วอีกหนึ่งคน
ถึงแม้ว่า อาจารย์อาบีดีน วิทยานนท์ จะจากพวกเราไปแล้วก็ตาม แต่ว่าคณะครู และบรรดาศิษย์เก่าก็ยังอยู่ร่วมกันดำเนินการสอนต่อไป โดยยึดหลักคำสอนการปฏิบัติของท่านอาจารย์ที่ได้ทำไว้อย่างเคร่งครัด เพราะจิตใต้สำนึกของเราบอกว่า ดวงวิญญาณของท่านนั้น กำลังปราบปลื้มและมีความสุขอยู่ในโลกบัรซัคของท่านนั้น ตราบเท่าที่การเรียนการสอนยังคงอยู่ที่โรงเรียนมะเซาะฮะตุดดีน ปัจจุบัน บรรดาทายาทและบุตรหลานของท่านอาจารย์อาบีดีน วิทยานนท์ ได้สืบสานเจตนารมณ์ของท่าน โดยได้ร่วมกันสอนและบริหารกิจการของโรงเรียนมะเซาะฮะตุดดีนเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาจวบจนถึงทุกวันนี้
ขออัลลอฮฺ ทรงโปรดประทานความกรุณาเมตาปราณี และคุ้มครองแด่ดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์ของท่านอาจารย์อาบีดีน วิทยานนท์ ในโลกอาคีเราะฮ์ และทรงประทานสรวงสวรรค์ชั้นสูงสุด ด้วยเถิด อามีน
หนังสือ สื่อมะเซาะฯ(มะเซาะรำลึก 100 ปี จากบาแล..สู่โรงเรียน)